ยกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์อนาคต (Lift Skill Thai Labor Force) 

Asia, 7 July 2022 – ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นและผลักดันนโยบายเพื่อเป้าหมายการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ล่าสุดทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการดำเนินการยกร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นในการพัฒนาระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) และมีการกำหนดหมุดหมายในการพัฒนาทั้งหมด 13 ประการ 4 มิติ โดยในหมุดหมายที่ 12 คือไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

รวมถึงจากรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ได้ระบุถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อันเกิดมาจากระบบการศึกษากับการฝึกอบรมด้านเทคนิควิชาชีพ รวมถึงระบบการฝึกอบรม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคตและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ในแง่ของความต้องการในตลาดแรงงานใหม่เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลของประเทศไทย Mercer ผู้นำระดับโลกด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผู้มีทักษะความสามารถสูง สุขภาพ การเกษียณอายุ และการลงทุน ได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI) เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการระบุความต้องการทักษะที่เกิดขึ้นใหม่และสร้างผู้มีทักษะความสามารถสูงในอนาคตให้กับประเทศ

จากนโยบายและปัญหาข้างต้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมือกบ บริษัทเมอร์ไทย (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาโครงการในนาม ‘Lift Skill Thai Labor Force Project’ ยกระดับทักษะแรงงานไทย เพื่อตอบโจทย์อนาคต โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณสองปี แบ่งการดำเนินการออกเป็นสามระยะ และจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกซึ่งขับเคลื่อนด้วยข้อมูลของเมอร์เซอร์ และความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาแผนงานให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการส่งเสริมระบบการศึกษาขั้นสูงและพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในอนาคต

ระยะแรกของโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยทางเมอร์เซอร์ได้วิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curver ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการเติบโตในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ดิจิทัล พลังงานชีวภาพและชีวเคมี อุตสาหกรรมยานยนตร์แห่งอนาคต เป็นต้น

เมอร์เซอร์ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลทางภาคอุตสาหกรรมโดยตรงผ่านการสัมภาษณ์กับผู้บริหารและตัวแทนบริษัทต่างๆในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น พบว่านอกเหนือจากทักษะทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และวิทยาศาสตร์ข้อมูล แรงงานปัจจุบันในประเทศไทยยังขาดทักษะทางสังคม (Soft skill) เช่น กรอบความคิดแบบเน้นการเติบโต (Growth mindset) และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Adaptability)  สิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจในการคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่เน้นดิจิทัลและเทคโนโลยี รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับระยะที่สองของโครงการนี้ เมอร์เซอร์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกในระยะแรกเพื่อให้อุตมศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักศึกษา และแรงงานได้ตรงกับความต้องการทักษะของภาคเอกชน

ในระยะที่สามและขั้นสุดท้ายของโครงการ Mercer จะเฝ้าดูการดำเนินการของโครงการเพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการสร้างเส้นทางอาชีพที่มั่นคงสำหรับบัณฑิตใหม่ระดับปริญญาตรีที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “ระบบการศึกษาของประเทศไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลและเทคโนโลยี เพราะหลักสูตรการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเรายังไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและของประเทศในอนาคต ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ Lift Skill Thai Labor Force คือการสร้างหลักสูตรใหม่ ๆ หรือปรับหลักสูตรเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อช่วยยกระดับทักษะแรงงานไทย”

ความร่วมมือระหว่างเมอร์เซอร์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนี้ สอดคล้องกับคุณค่าในการดำเนินหลักของเมอร์เซอร์ ที่จะต้องการช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ในการพัฒนาทักษะใหม่ รวมถึงจัดการกับความท้าทายด้านการจ้างงานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19

คุณจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของบริษัทเมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรายินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการในการช่วยให้ภาครัฐยกระดับแรงงานไทยเข้ากับโลกการทำงานยุคใหม่ได้ดีขึ้น รวมทั้งการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในโครงการการพัฒนาทักษะแรงงานนี้ผ่านการวิจัยเพื่อระบุว่ามีทักษะด้านใดของแรงงานที่จำเป็นและยังขาดแคลนบ้าง ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับประเทศไทย และเป็นผลงานที่สำคัญสำหรับเมอร์เซอร์”