บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mercer) ร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Building a Resilient Future: Empowering Thai Asset Management with Mercer FundWatchTM” 

ไทย, 07 ตุลาคม 2567

Joint Release

5 กันยายน 2567

เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2567 บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mercer) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Marsh McLennan (NYSE: MMC) ร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Building a Resilient Future: Empowering Thai Asset Management with Mercer FundWatchTM”  เพื่อนำเสนอ การประเมินความสามารถของกองทุนในการสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเกินเมื่อเทียบกับตัวเทียบวัด (Mercer FundWatchTM) รวมถึงการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำหลักการประเมินความสามารถของกองทุนรวมด้วยมิติเชิงคุณภาพ (Qualitative) และเพื่อการปลูกฝังปรัชญาการลงทุนด้วยแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นส่วนนึงของ โครงการประเมินความสามารถของกองทุนรวมตราสารทุนไทย (Fund Rating Report) ที่ Mercer ได้รับทุนสนับสนุนการจัดทำ จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) 

คุณ Chee Loong, Chong Wealth Business Leader และ Partner บริษัท Mercer เปิดเผยในสุนทรพจน์กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าภาพว่า งานสัมมนาดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเรากับ CMDF ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ในการร่วมกันวางรากฐานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการจัดการสินทรัพย์ของไทยให้พร้อมรับมือกับอนาคต

นอกจากนี้ คุณ Chee Loong ได้กล่าวขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อคุณจักรชัย ที่ให้โอกาส Mercer ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้ รวมถึงทีมงาน CMDF ทั้งหมดสำหรับความไว้วางใจและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่น และหวังว่าภารกิจในการสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นนี้ จะเป็นสิ่งที่ CMDF จะสามารถสานต่อและผลักดันให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

คุณจักรชัย บุญยะวัตร President กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เปิดเผยในสุนทรพจน์กล่าวต้อนรับในฐานะผู้สนับสนุนโครงการว่า ตลาดทุนไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีโอกาสในการปรับปรุงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลโดยปัจจุบัน นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไปมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกองทุนและการลงทุน ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ส่งผลด้านลบต่อประสิทธิภาพ และความสามารถในการลงทุนในระยะยาว ด้วยเหตุดังกล่าว CMDF จึงได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนไทยได้รับข้อมูลที่เพียงพอ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน และความรู้ทางด้านการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งหนึ่งในพันธกิจ และวัตถุประสงค์ของ CMDF 

นอกจากนี้ คุณจักรชัย ได้กล่าวถึงโครงการที่ CMDF ให้การสนับสนุน Mercer ในการจัดทำโครงการประเมินความสามารถของกองทุนรวมตราสารทุนไทย (Fund Rating Report) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจ อนึ่ง Fund Rating Report ดังกล่าวมีลักษณะการประเมินที่มองไปข้างหน้า "Forward-Looking" และมีการประเมินเชิงคุณภาพ (Qualitative Assessment) ซึ่งแตกต่างจากรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เน้นผลการดำเนินงานในอดีต รวมถึงมิติของการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG Rating) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทางภาครัฐ และองค์กรอิสระให้ความสำคัญเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยสำหรับนักลงทุนในปัจจุบัน โดยคุณจักรชัยได้ระบุว่านักลงทุนไทยยังขาดเครื่องมือเพื่อการประเมิน และพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมรอบด้านที่นอกเหนือจากการประเมินเชิงปริมาณ  และกล่าวว่า Mercer FundWatchTM อาจเป็นเครื่องมือที่จะมาปิดช่องว่างดังกล่าวให้กับนักลงทุนได้ 

สัมมนาภายใต้หัวข้อ “Building a Resilient Future: Empowering Thai Asset Management with Mercer FundWatchTM”  เพื่อนำเสนอ การประเมินความสามารถของกองทุนในการสร้างอัตราผลตอบแทนส่วนเกินเมื่อเทียบกับตัวเทียบวัด (Mercer FundWatchTM)

นอกจากนั้น มีวิทยากรจาก Mercer Asia คุณ Helen Leung, Mercer FundWatchTM Solutions Leaders และ คุณ Jean De Kock, Investment Consulting Director รวมถึงได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญ คุณธิดาศิริ ศรีสมิต Chief Investment Officer – Sustainable Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด คุณดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย Head of Equities บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด และคุณพูน พานิชพิบูลย์ Global Market Strategist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกจ้าง 

สำหรับการบรรยายในหัวข้อ Mercer FundWatchTM  Fund Rating: Elevating the Investment Ecosystem – Values for Managers, Fund Platforms and Asset Owners

คุณ Helen Leung, Mercer FundWatchTM Solutions Leaders เปิดเผยว่าการจัดอันดับกองทุนผ่านโซลูชัน Mercer FundWatchTM ของเรานั้นให้โอกาสแก่นักลงทุนและที่ปรึกษาทางการเงินในการเข้าถึงบทวิเคราะห์คุณภาพสูง ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำของโลกมาเป็นเวลากว่า 20 ปี อีกทั้งได้ระบุว่าการจัดอันดับของ Mercer อิงจากการตรวจสอบวิเคราะห์การลงทุนที่มองไปข้างหน้า (Forward-Looking) ผ่านกระบวนการการตรวจสอบวิเคราะห์กองทุนเชิงลึก (Due diligence) ที่มีความเข้มข้นโดย Mercer โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมวิจัยผู้จัดการกองทุน (Global Investment Research) ระดับโลกที่เป็นอิสระ

นอกจากนี้คุณ Helen ได้ระบุถึงประโยชน์ของการใช้การจัดอันดับกองทุน Mercer FundWatchTM ว่า ผู้จัดการกองทุน สามารถแสดงความสามารถด้านการลงทุนที่โดดเด่นของตนในประเทศไทยได้ ซึ่งช่วยให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดจากกองทุนรวมที่มีการบริหารแบบเชิงรุก คุณ Helen จึงแนะนำให้ ที่ปรึกษาทางการเงินจากสถาบันการเงิน และแพลตฟอร์มกองทุนรวม ใช้ประโยชน์จากการจัดอันดับและรายงานของ Mercer FundWatchTM เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกกองทุนรวมเชิงรุก

สำหรับการบรรยายในหัวข้อ Inside Mercer’s Manager Research: Unveiling a Rigorous Due Diligence Framework

คุณ Jean De Kock, Investment Consulting Director เปิดเผยเบื้องลึกของการตรวจสอบวิเคราะห์กองทุนเชิงลึก (Due diligence) ผู้จัดการกองทุนรวมทั่วโลก และกรอบการวิเคราะห์ผู้จัดการกองทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างแนวคิดการลงทุน (Idea Generation) การจัดพอร์ตการโฟลิโอ (Portfolio Construction) การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Implementation และ การบริหารจัดการธุรกิจ (Business Management) คุณ Jean ได้ระบุว่าเมอร์เซอร์มีความเชื่อว่าผลตอบแทนในอดีตเป็นตัวชี้วัดที่ไม่ดีสำหรับการคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคต และให้ความเห็นว่าการประเมินแนวทางการลงทุนของผู้จัดการกองทุนที่มองไปข้างหน้า (Forward-Looking) และมีความแข็งแกร่งสามารถเพิ่มโอกาสในการระบุการสร้างผลตอบแทนส่วนเกินที่สามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) อนึ่ง ทีมวิจัยผู้จัดการกองทุนจาก Mercer (Global Investment Research) ที่มีขนาดใหญ่และมีประสบการณ์นำบริบทและมุมมองระดับโลกมาใช้ในการประเมินผู้จัดการสินทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานสำหรับผู้เล่นในท้องถิ่น

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ Long-term Portfolio Resiliency –  Integrating Sustainability Into Investment Philosophy

คุณธิดาศิริ ศรีสมิต Chief Investment Officer – Sustainable Investment ได้เล่าถึงประสบการณ์เข้าร่วมการทำ Due Diligence โดยเปิดเผยว่า การประเมินกองทุนโดย Mercer นับเป็นมิติใหม่ที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย โดยการสัมภาษณ์นั้นครอบคลุมปัจจัยเชิงคุณภาพที่รอบด้าน และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างแต่ละปัจจัยเพื่อความสม่ำเสมอ (Consistency) ของคำตอบที่ได้จากทีมลงทุน กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสให้ บลจ. กสิการไทยได้รับการประเมินบน Global Platform เป็นครั้งแรก แต่ยังให้ประโยชน์อย่างมากในแง่ของการเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับลูกค้านักลงทุนสถาบัน และที่สำคัญคือ การให้ข้อมูลเชิงลึกแก่นักลงทุนรายย่อย ซึ่งปกติแล้วมักไม่ได้เข้าถึงมุมมองเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล ยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการกองทุน และเพิ่มความโปร่งใสในอุตสาหกรรมการลงทุนของไทยโดยรวม

นอกจากนี้คุณธิดาศิริ เปิดเผยถึงความสำคัญในการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมที่ควรพิจารณาทั้งปัจจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพควบคู่กัน โดยผลตอบแทนในอดีตเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนปัจจัยเชิงคุณภาพของผู้จัดการกองทุน มากกว่านั้นคือปัจจัยเชิงคุณภาพก็จะเป็นข้อมูลเพื่อการคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคต หรือที่เรียกว่า “Forward-Looking” โดยพิจารณาจากคุณภาพของผู้จัดการกองทุนและกระบวนการลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น การวิเคราะห์ทั้งสองส่วนนี้จะช่วยให้นักลงทุนได้ภาพรวมที่สมบูรณ์ในการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม 

ในเนื้อหาของการลงทุนอย่างยั่งยืน  (Sustainability) บลจ. กสิกรไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนแบบยั่งยืนมาเป็นเวลานาน โดยมีมุมมองว่าการมองเพียงเป้าหมายทางการเงินไม่เพียงพอสำหรับการลงทุนอย่างยั่งยืน ในอนาคต แต่ต้องสร้างความสมดุลให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ อาทิเช่น สังคม ซึ่งเป็นหนึ่งใน Stakeholders ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ผลกระทบของสภาพสิ่งแวดล้อมต่อการดำเนินธุรกิจก็มีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในปัจจุบันการพูดถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องคำนึงถึงทุกปัจจัยไปพร้อมๆ กัน ทั้งในแง่ของสังคมและสิ่งแวดล้อม

การมีเป้าหมายการลงทุนอย่างยั่งยืน จะนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายด้านการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญคือการวัดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม อนึ่ง ในอดีตการพูดถึง ESG หรือการลงทุนอย่างยั่งยืน มักเน้นที่แนวคิด แต่ปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลกำลังพยายามกำหนดวิธีการวัดผล เป้าหมาย และผลลัพธ์ที่ชัดเจน คุณธิดาศิริ ได้ระบุเพิ่มเติมถึงการผนวกปัจจัยด้าน ESG เข้าสู่การบริหารจัดการธุรกิจจะช่วยให้ธุรกิจได้รับรู้ถึงความเสี่ยงและโอกาสแบบรอบด้าน (360 องศา) และบรรลุเป้าหมายทางด้านการเงินได้ รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปในเชิงบวกต่อนักลงทุน 

คุณดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย Head of Equities บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล่าถึงประสบการณ์เข้าร่วมการทำ Due Diligence โดยเปิดเผยว่า เมอร์เซอร์มีทีมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์กองทุนเชิงลึก (Due diligence) อย่างละเอียดและเข้มข้น กระบวนการเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ผลตอบแทนและความเสี่ยง จากนั้นใช้หลักการประเมินเชิงคุณภาพ โดยเจาะลึกในประเด็นต่างๆ เช่น ภาพรวมของทีม วิธีการทำงานร่วมกัน การสร้างแนวคิดการลงทุน กระบวนการคัดกรองการลงทุน และวิธีการบูรณาการ ESG เข้ากับการบริหารพอร์ตการลงทุน โดยคุณดรุณรัตน์ระบุว่าประสบการณ์การทำ Due diligence ถือว่าคุ้มค่า และเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเข้าใจความสามารถของทีมลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้กองทุนมีโอกาสอยู่ในตัวเลือกการลงทุนของลูกค้ามากขึ้น และเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจสำหรับ บลจ. ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ทาง อเบอร์ดีน ในภูมิภาคต่างๆ มองเห็นถึงประโยชน์ของ Mercer FundWatchTM

บลจ. อเบอร์ดีน ตระหนักดีว่าผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นการรับประกันผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้น จึงเน้นการเฟ้นหาการลงทุนที่ดี โดยยึดหลักปรัชญาการลงทุนที่มุ่งเน้นหุ้นคุณภาพ และมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน และสามารถทำซ้ำได้ (Repeatable) มีแบบแผนที่ชัดเจน และมีกรอบการทำงานที่สม่ำเสมอ (Consistent Framework) ซึ่งผู้จัดการกองทุนท่านใดก็ตามที่เข้ามาบริหารจัดการ ก็ต้องปฏิบัติตามกรอบดังกล่าว สองส่วนนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงให้กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

บลจ. อเบอร์ดีน ได้ผนวกปัจจัยด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยผนวกเข้ากับปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ เช่น โมเดลธุรกิจ การเติบโตของแต่ละภาคอุตสาหกรรม คุณภาพของผู้บริหาร และคุณภาพทางการเงิน คุณดรุณรัตน์ได้กล่าวถึงตัวอย่างของการผนวก ESG มาในกระบวนการการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม (E) ที่มุ่งประเมินความเสี่ยงในอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงสูง ด้านสังคม (S) เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ด้านธรรมาภิบาลหรือ บรรษัทภิบาล (G) ให้ความสำคัญกับโครงสร้างการบริหารที่โปร่งใส การถ่วงดุลอำนาจ และนโยบายทางการเงินที่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แนวทางนี้ช่วยให้ บลจ. อเบอร์ดีน สามารถประเมินและเลือกลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นอกจากนี้ บลจ. อเบอร์ดีน ยังกำหนดให้นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนทุกคนต้องเข้าใจโอกาสและความเสี่ยงด้าน ESG ของบริษัทที่ตนรับผิดชอบในการวิเคราะห์ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG ระดับภูมิภาคคอยให้การสนับสนุน นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG ต้องเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการลงทุนในทุกประเทศ รวมถึงในทีมไทย เพื่อให้มั่นใจว่าปัจจัย ESG ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมในกระบวนการลงทุน ทาง บลจ. อเบอร์ดีน เชื่อว่าการวิเคราะห์การลงทุนอย่างยั่งยืนมีความสำคัญเพราะช่วยให้เข้าใจถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจในอนาคต วิธีการสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้นักลงทุน และแนวทางที่นักลงทุนสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับการสัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อ Safeguarding Retirement Futures: The Critical Role of Manager Research in Fulfilling Fiduciary Duties 

คุณพูน พานิชพิบูลย์ Global Market Strategist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกจ้าง ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ว่าที่ผ่านมาได้ยกระดับกระบวนการประเมินผู้จัดการกองทุน โดยนอกเหนือจากการประเมินเชิงปริมาณแล้ว ยังได้นำ Mercer FundWatchTM Fund Rating Report ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะบนเว็บไซต์มาใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งรายงานนี้ครอบคลุมปัจจัยเชิงคุณภาพที่สำคัญ อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงในทีมบริหารการลงทุน หรือปัญหาเรื่องภาระหน้าที่ที่มากเกินไปของผู้จัดการฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้คณะกรรมการกองทุนฯ สามารถประเมินและคาดการณ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรอบด้านมากขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อประโยชน์สูงสุดของสมาชิก

นอกจากนั้น คุณพูนให้มุมมองเชิงปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการกองทุนฯ ว่า Mercer FundWatchTM เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฯ ในกระบวนการคัดเลือกผู้จัดการกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คณะกรรมการต้องรับผิดชอบงานประจำของตนควบคู่ไปด้วย รายงานนี้ช่วยให้คณะกรรมการสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกโดยไม่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการตัดสินใจ ทำให้คณะกรรมการสามารถทำหน้าที่ในการกำกับดูแลและบริหารกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความรอบคอบ และตอบสนองต่อผลประโยชน์ของสมาชิกได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คุณพูนได้ให้ข้อเสนอแนะสำคัญต่อ Mercer ในการพัฒนาบริการ Mercer FundWatchTM ให้ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในสองประเด็นหลัก: ประการแรก ต้องการให้มีการประเมินกองทุนตราสารหนี้อย่างละเอียดมากขึ้น เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ประการที่สอง ต้องการให้มีการเพิ่มการเข้าถึงและประเมินบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างประเทศ เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศกำลังเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอนาคต การพัฒนาในสองด้านนี้จะช่วยให้คณะกรรมการกองทุนมีเครื่องมือที่ครบถ้วนมากขึ้นในการประเมินและคัดเลือกผู้จัดการกองทุน สอดคล้องกับแนวโน้มการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสมาชิกในระยะยาว